-
จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมชาวบ้าน
ความยากจนในภาคอีสาน และภูมิปัญญาท้องถิ่น
“เมื่อปี 2543 ตอนนั้นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เราสมัครเข้าร่วมโครงการ Thai Rural Net อาสาสมัครไอซีทีลงพื้นที่ช่วยเหลือคนชนบท ปีนั้นจังหวัดบุรีรัมย์สถานการณ์ต่างจากตอนนี้มาก คนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ทำนาเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ติดอันดับต้นๆที่มีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรน้อยที่สุดในภาคอีสานเราเลยเลือกมาที่นี่ เราจะต้องเข้าไปถอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นออกมาเป็นสื่อต่างๆที่เหมาะให้คนในท้องถิ่นนำไปใช้งานเลี้ยงชีพได้ โดยลงพื้นที่ไปทำความรู้จักเกษตรกรในบุรีรัมย์ เพื่อที่จะค้นหาภูมิปัญหาท้องถิ่น และบันทึกข้อมูลเหล่านั้นมาจัดทำสื่อที่จะช่วยรักษาภูมิปัญญานั้นไม่ให้สูญหายไปและส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปได้ง่าย ระหว่างทำโครงการนั้นเรา เข้าไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจนสนิทกันเหมือนเป็นลูกหลานเขาเลยทำให้รู้จักคนในพื้นที่จำนวนมาก นอกจากนั้นเราก็ได้พบเกษตรกรหลายๆคนที่อาจจะเรียกว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่เค้าคิดค้นวิธีแก้ปัญหาในการเกษตรในแบบของตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีปัญหาอย่างง่ายๆ ใช้ของที่หาได้จากในพื้นที่มาทำแล้วก็แก้ปัญหาได้จริงๆ”
-
ก่อตั้งเครือข่ายนวัตกรรมชาวบ้าน (Grassroot Innovation Network)
เกษตรอินทรีย์ และเกษตรประณีตในพื้นที่ 1 งาน
“ที่เราอยู่ในพื้นที่มาระยะหนึ่งก็ได้เห็นสภาพปัญหาชัดเจนมากขึ้นการทำเกษตรมีเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆเข้ามาเพื่อเน้นการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูง เพิ่มผลผลิตให้มากๆเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่สะสมมานานทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินในแถบนี้ถูกทำลายไปอย่างมาก ทำให้เกษตรกรต้องใช้เงินกับการเพาะปลูกมากขึ้นเพื่อไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ ในมิติทางสังคมที่เรายกย่องคนมีฐานะทางการเงินดี ก็ยิ่งตอกย้ำปัญหาของเกษตรกรที่มีภาระหนี้สินให้แย่ลงไปอีก งานพัฒนาสังคมในช่วงเวลานั้นมีหลายองค์กรลงไปช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการจัดอบรมให้ความรู้และเทคโนดลยีที่จะช่วยแก้ปัญหา ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเกษตรกรได้รับการปรับเปลี่ยนความคิดเพียงชั่วคราว เมื่อกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมก็กลับไปทำแบบเดิม และเกิดปัญหาแบบเดิมซ้ำอีก จากจุดนี้เองเราจึงก่อตั้ง เครือข่ายนวัตกรรมชาวบ้าน (Grassroot Innovation Network) เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรด้วยวิธีการใหม่ ที่เน้นการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องสร้างกระบวนการเรียนรู้และลงมือทำในเครือข่าย โดยเราสร้างเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ และจัดกระบวนการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีในการทำเกษตร โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรารวมรวมไว้มาใช้งาน บางส่วนก็ยังใช้งานได้ดี แต่ก็มีส่วนที่ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแล้ว เราก็ชวนชาวนบ้านปรับหรือคิดหาวิธีการใหม่มาใช้แก้ปัญหาให้เหมาะกับพื้นที่มากที่สุด โดยมีหลักการพื้นที่ฐานคือ ประหยัด ช่วยลดต้นทุน ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้ ซึ่งเราเรียกว่า "นวัตกรรมชาวบ้าน" หลังจากนั้นเราก็นำวิธีการทำเกษตรอินทรีย์มารวมกับนวัตกรรมชาวบ้านพัฒนาขึ้นเป็นแนวคิด“เกษตรประณีต พื้นที่ 1 งาน” วิธีทำเกษตรที่เครือข่ายเราพัฒนาขึ้นมาช่วยให้เกษตรกรหน้าใหม่ที่อยากเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ได้ทดลองทำในพื้นที่เล็กๆก่อน (1 งาน = 0.1ไร่) ทำให้สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้ง่าย เมื่อเข้าใจแล้วจึงค่อยๆขยายพื้นที่ออกไป"
-
ก่อตั้งบริษัทนวัตกรรมชาวบ้าน (Grassroot Innovation Company)
“ธุรกิจ” เครื่องมือมีประสิทธิภาพเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
“นอกจากการสร้างเครือข่าย การเรียนรู้และทดลองทำเกษตรอินทรีย์ จุดสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรในเครือข่ายทำเกษตรอินทรีย์ต่อไปได้คือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกไปจนถึงการตลาดและการจำหน่ายผลผลิต ซึ่งในส่วนนี้เราแยกออกมาจากงานเครือข่ายตั้งเป็น บริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด แล้วเราก็สลับบทบาทจากผู้ประสานงานเครือข่าย มาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทด้วยเพราะ เรามองหาแนวทางใหม่ๆในงานพัฒนาและเห็นว่า SE หรือ Social Enterprise – กิจการเพื่อสังคม ที่นำรูแบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพของการทำธุรกิจมาใช้ ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบที่นำไปสู่การแก้ปัญหาสังคมที่ยั่งยืนได้ ที่บริษัทเริ่มต้นจากผลิตปัจจัยการผลิตสำหรับการเกษตร ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ จุลินทรีย์กำจัดศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ และจำหน่ายให้กับเกษตรกรในเครือข่ายโดยมีบริการการเงิน(สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ)แก่เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการทำเกษตรต่อมาเราก็ค่อยๆขยายให้ครบวงจรมากขึ้นและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน เช่น สร้างช่องทางกระจายปัจจัยการผลิตที่เข้าถึงได้ง่าย พัฒนาทีมพี่เลี้ยงในการทำเกษตรอินทรีย์ ทำการตลาดเชิงรุก การประกันราคารับซื้อผลผลิต กองทุนนวัตกรรมแก้จน เป็นต้น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “ระบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจร”